ในฐานะที่ปรึกษาการตลาดออนไลน์และแบรนดิ้ง — รวมถึงการเป็นวิทยากรในงานสัมมนามาหลากหลาย ทั้งของตัวเอง ของบริษัท รวมถึงของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน — มีคำถามหนึ่งที่ถูกถามซ้ำไปซ้ำมาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ นั่นก็คือ
ถ้าอยากศึกษาเรื่องการตลาดออนไลน์ ควรไปเรียนที่ไหนดี?
ซึ่งไม่มีคำตอบไหนถูกต้องในทุกสถานการณ์ เพราะแต่ละคนก็มีปัจจัยและเงื่อนไขต่างกัน เหมาะสมกับเนื้อหาและอาจารย์ที่ต่างกันไป (ขนาดขายสินค้าแบบเดียวกัน ทำธุรกิจอย่างเดียวกัน คำตอบยังต่างกันเลย)
ดังนั้นเราต้องลองหารายละเอียดของคอร์ส แล้วคิดวิเคราะห์ตามแนวทางต่อไปนี้ดูนะครับ
ถ้าคอร์สนั้นโชว์แต่ผลลัพธ์ที่ทำได้ แต่ไม่ค่อยบอกรายละเอียดเนื้อหา
พึงระลึกไว้เสมอว่า ตัวเลขผลลัพธ์ที่ได้มานั้น เกิดได้จากหลายปัจจัยมาก ๆ และส่วนใหญ่จะไม่สามารถเล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น
- การโชว์ว่ายอดขายสูงมาก — แต่ไม่ได้เล่าว่าใช้งบประมาณหรือทรัพยากรไปทั้งหมดเท่าไหร่กว่าจะได้ยอดเท่านั้น
- การโชว์ว่าจำนวน inbox เข้ามาเยอะ — ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปิดการขายได้ครบทั้งหมด
- การโชว์ว่ายอดคน engage สูง จำนวนคนเห็นเยอะมาก — แต่ไม่ได้โชว์ว่าเนื้อหานั้น mass ขนาดไหน และตรงกับกลุ่มลูกค้าจริงไหม
- และเคสอื่น ๆ อีกมากมายยยย
ใช่ว่าเราจะบอกว่าหลักสูตรนั้นโกหกหรอกนะครับ เพราะก็มีหลายคอร์สที่ทำผลลัพธ์ได้จริงด้วยงบประมาณที่เหมาะสมจริง แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เรียนพึงระลึกไว้ก่อนก็คือ กลุ่มนักขายออนไลน์ในปัจจุบันนั้น มีหลายคนมาก ๆ ที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยการวิเคราะห์ว่าตลาดต้องการอะไรก่อน แล้วจึงค่อยนำสินค้าหรือบริการแนวนั้น ๆ มาขาย
การขายสินค้าหรือบริการที่ตลาดต้องการอยู่แล้ว
จึงง่ายกว่าการที่ต้องมาสร้างตลาดให้กับสินค้าของตัวเอง
ในเคสเหล่านี้ ถ้าผมพอรู้จักและมั่นใจในตัววิทยากร ผมก็อาจจะตัดสินใจลงคอร์สนั้น ๆ แต่ถ้าไม่รู้จัก ผมจะค้นหาว่าวิทยากรเคยทำธุรกิจแนวไหนมาก่อน แล้วถ้าธุรกิจของเขามีความคล้ายคลึงกับของผมบ้าง ผมจึงจะตัดสินใจไปเรียน
ถ้าคอร์สนั้นเน้น outline ของหลักสูตรเป็นหลัก
ผมชอบเคสนี้ที่สุด เพราะสามารถดูได้เลยว่ามีเนื้อหาส่วนใดที่จะเพิ่มทักษะความรู้ให้กับผมได้ ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาใหม่ทั้งคอร์สหรอกครับ ขอแค่มีเนื้อหาส่วนย่อยสักอันเดียวที่น่าสนใจและนำไปใช้ได้เลย แค่นั้นก็คุ้มค่าลงทะเบียนแล้ว ^^
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเคสนี้ที่ผมเจอบ่อยมาก ๆ ก็คือ
บางครั้งจะมีการตั้งชื่อเทคนิคขึ้นมาเอง
ทั้ง ๆ ที่เทคนิคนั้นก็มีชื่อปกติอยู่ในเนื้อหาคอร์สอยู่แล้ว
ยกตัวอย่างเช่น อาจมีการตั้งชื่อเทคนิคไว้ซะอลังการ ทั้งที่เรื่องนั้นก็เป็นแค่ตัวอย่างของการทำ CRM เฉพาะธุรกิจเท่านั้น (การตั้งชื่อเหล่านี้ถูกใช้กันบ่อยมากจากน่าเป็นห่วง… ซึ่งผมคิดว่าโอเคถ้ามีการเล่าเทคนิคเหล่านี้ควบคู่ประสบการณ์จริง เพราะมันจัดเป็นการเรียนรู้อีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเพียงแค่ตั้งชื่อใหม่แล้วไม่มีการเพิ่มมูลค่าใด ๆ เลย ผู้เรียนก็จะเสียเงินและเสียเวลาโดยใช่เหตุ)
ดังนั้นทางผู้เรียนก็พึงตั้งข้อสงสัยก่อนจะปักใจเชื่ออะไร อย่าไปเจอชื่อแปลก ๆ แล้วอยากเรียนจนลืมตัว ถ้าจะให้ดีก็ต้องลองถาม ๆ คนที่เคยเรียนไปก่อนบ้างว่าไอ้เจ้าชื่อวิชาแฟนซี ๆ อันนั้นมันคืออะไรกันแน่
ถ้าคอร์สนั้นโฟกัสด้านชื่อเสียงและเครดิตของอาจารย์
เคสนี้เป็นเคสที่ดูยากมาก ๆ เพราะถ้าเป็นคอร์สที่เอาชื่อของอาจารย์หรือวิทยากรมาเป็นจุดขาย นั่นแสดงว่าเขาต้องมั่นใจในจุดขายนั้น ๆ และมีผลลัพธ์หรือประสบการณ์จริงมาเล่า ซึ่งส่วนใหญ่ผมมักชอบคอร์สแบบนี้นะ คือถ้าชอบวิทยากร ก็ลงเรียน ถ้าไม่ถูกใจ ก็ไม่เรียน
แต่ถ้าจะมีคำเตือนอยู่บ้าง ก็คือให้ลองดูว่าในอดีตวิทยากรเคยทำอะไรมา และในปัจจุบันกำลังทำอะไรอยู่ — อันนี้เพื่อให้แน่ใจว่า วิทยากรไม่ได้เอาประสบการณ์เก่าเก็บในอดีตที่ใช้ไม่ได้ผลแล้วในตอนนี้มาเล่าให้เราฟัง
เทคนิคที่เคยขายของได้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่ ณ ปัจจุบันอาจใช้ไม่ได้ผลแล้ว
ถ้าไม่รู้ว่าวิทยากรนั้นทำอะไรอยู่ ก็ให้ลองหาแฟนเพจหรือเฟซบุ๊คของวิทยากร แล้วลองอ่านโพสต์ของเขาดูว่า รูปแบบและวิธีการพูดหรือบรรยายของเขาเป็นอย่างไร ถ้าคิดว่าตรงจริต และรู้สึกว่าได้อะไรจากการอ่านบทความหรือโพสต์ ก็ไปเรียนได้เลย
หมายเหตุ ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นวิธีการคิดพิจารณาที่ไม่ได้อ้างอิงจากทฤษฎีอะไรนอกเหนือไปจากตรรกะส่วนตัว — พึงใช้ตามด้วยความระมัดระวัง
ด้วยความปรารถนาดี
ทีมงาน DigiTide